โรคซึมเศร้า คือโรคที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของเราโดยตรง ทำให้การใช้ชีวิตของบุคคลนั้นใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากยิ่งขึ้น เป็นโรคที่ดูเหมือนจำไม่ร้ายแรง แต่กลับส่งผลถึงชีวิตของผู้ป่วยได้เลยทีเดียว โดยมีสาเหตุมาจากการสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และอาจเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีเหตุใด ๆ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แต่ในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการใช้ยา และการรักษาทางจิตใจควบคู่กันไป 

โรคซึมเศร้า โรคอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ซึมเศร้า หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Clinical depression คือภาวะเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้าแบบปกติทั่วไป และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบในโรคทางจิตเวช โดยเกิดขึ้นความผิดปกติจากสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลกระทบทางกาย และจิตใจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า วิตกกังวล และไม่มีความสุข นอนหลับยาก และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลงจนส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต โดยโรคซึมเศร้านี้ สามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 

1. โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชัน (Major Depression)

เป็นโรคซึมเศร้าที่สามารถเกิดขึ้นได้วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการอยากร้องไห้ หรือหงุดหงิดง่าย ส่งผลกระทบต่อการกิน นอน และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 

2. โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression)

ดิสทีเมีย เป็นอาการซึมเศร้าแบบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2-5 ปี จะมีอาการเศร้า แต่จะไม่เท่ากับเมเจอร์ ดีเพรสชัน ผู้ป่วยยังคงสามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมได้ปกติ 

3. โรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ (Bipolar disorder)

โรคซึมเศร้าแบบ ไบโพลาร์ นั้นผู้ป่วยจะมีอาการเบื่อหน่ายชีวิต สลับกับการมีอาการแบบคึกคัก และหงุดหงิด ทางการแพทย์จะเรียกโรคนี้อีกชื่อหนึ่งว่า โรคอารมณ์สองขั้ว 

4. โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression)

โรคซึมเศร้าหลังคลอด มักจะเกิดกับคุณแม่หลังคลอดบุตรไปแล้ว 6 สัปดาห์ หรือจนเกิดขึ้นจนกว่าลูกจะเริ่มโตขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในคุณแม่ที่มีประวัติป่วยทางจิต ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงฮอร์โมนก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว 

5. โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-Life Depression)

โรคซึมเศร้าชนิดนี้มักเกิดในผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป และมักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยอาการเริ่มจากอารมณ์ซึมเศร้าทั่ว ๆ ไป และมากสุดคือการฆ่าตัวตาย 

6. โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ( Seasonal Affective Disorder: SAD)

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีฤดูหนาว ที่ช่วงกลางวัน สั้นกว่าช่วงกลางคืน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อหน่าย และนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อาการเหล่านี้ก็จะหายไปเองอัตโนมัติ 

อย่างไรก็ตามอาการของโรคซึมเศร้าทั้งหมดที่เราได้ยกตัวอย่างไปนั้น เป็นอาการที่ผู้คนรอบข้าง หรือผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยควรให้ความสนใจเป็นอย่างดี เพราะหากผู้ป่วยโรคดังกล่าวไม่ได้รับการรักษา และดูแลอย่างถูกต้องแล้วละก็อาจทำให้ผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายเลยก็ว่าได้ การเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวคือสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยเลยทีเดียว